การให้ตามกฎหมายคืออะไร เรามาดูตัวบทกฎหมายกันดีกว่า กฎหมายบอกว่า "อันว่าให้นั้นคือ สัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น"
ให้โดยเสน่หา ก็คือ ให้ด้วยความรัก ความพอใจ ของผู้ให้นั้นแหล่ะที่นี้เมื่อให้แล้วจะเอาคืนได้หรือไม่ มีทั้งได้และไม่ได้
เดี๋ยว อย่าพึ่งหาว่ากวนอวัยวะเบื้องล่าง เหตุที่เขียนอย่างนี้เพราะกฎหมายเขาบอกว่า
"อันผู้ให้จะเรียกให้ถอนคืนการให้ เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้นท่านว่าอาจจะเรียกได้เพียงแต่ในกรณีดังจะกล่าวต่อไปนี้
1) ถ้าผู้รับได้ประทุษร้ายต่อผู้ให้เป็นความผิดฐานอาญาอย่างร้ายแรงตามประมวลกฎหมายอาญาหรือ2) ถ้าผู้ได้รับทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียง หรือหมิ่นประมาทผู้ให้อย่างร้ายแรง
3) ถ้าผู้รับได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ให้ ในเวลาที่ผู้ให้ยากไร้ และผู้รับยังสามารถจะให้ได้"
กฎหมายเรียกคืนการให้ได้เพราะเหตุ 3 อย่างข้างต้นนี้เท่านั้น แต่กฎหมายก็ยังเข้มงวดจำกัดลงไปอีกว่า ถึงแม้จะคืนการให้ได้ด้วยเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณก็ตาม "เมื่อผู้ให้ได้อภัยแก่ผู้รับในเหตุประพฤติเนรคุณนั้นแล้วก็ดี หรือเมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้ว 6 เดือน นับแต่เหตุเช่นนั้นได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้ได้นั้นก็ดี ท่านว่าหาอาจจะถอนคืนการให้ได้ไม่
อนึ่ง ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดี เมื่อพ้นเวลาสิบปีภายหลังเหตุการณ์เช่นว่านั้น
เห็นมั้ย ถึงแม้จะเรียกคืนการให้ด้วยเหตุประพฤติเนรคุณแต่ถ้าหากผู้ให้ได้ให้อภัยแล้วก็หมดสิทธิที่จะถอนคืนการให้ หรือปล่อยให้เวลาล่วงพ้นไปแล้วถึง 6 เดือน นับแต่ได้ทราบเหตุที่ผูรับประพฤติเนรคุณ ก็ถอนคืนการให้ไม่ได้ และหากว่าจะทราบเหตุถอนคืนการให้เมื่อเวลาล่วงพ้นไปแล้วถึง 10 ปี ก็ฟ้องไม่ได้เช่นกัน
ในกรณีที่ตอบว่า "ไม่ได้" ก็มีกฎหมายเขาเขียนไว้ว่า
"การให้อันัจะกล่าวต่อไปนี้ ท่านว่าจะถอนคืนเพราะเหตุเนรคุณไม่ได้คือ
1) ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้
2) ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
3) ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา
4) ให้ในการสมรส
ถ้าอยู่ในสี่จำพวกนี้แล้วหมดสิทธิถอนคืนการให้เด็ดขาด
เรามาดูความหมายของแต่ละข้อดีไหม จะได้รู้ว่าให้แบบไหนที่ถอนคืนการให้ไม่ได้ แม้จะเป็นเพราะเหตุเนรคุณ
ให้เป็นบำเหน็จสินจ้างโดยแท้ ก็คงเป็นที่เข้าใจโดยง่ายว่าเป็นเรื่องของการให้เป็นค่าจ้างหรือการตอบแทนผู้รับได้ทำอะไรให้แก่ผู้ให้ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำให้กันเปล่า ๆ แต่ผู้รับก็ทำให้โดยไม่ได้คิดค่าจ้าง ผู้จ้างก็เลยยกทรัพย์สินให้เป็นบำเหน็จ
ให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน หมายถึง เป็นการให้ที่ผู้ให้ได้ให้ทรัพย์สินไปแล้ว แต่มีเงื่อนไขให้ผู้รับต้องปฏิบัติต่อไปเกี่ยวกับการให้นั้น เช่น พ่อจะยกที่ดินให้ลูกแต่มีเงื่อนไขให้ลูกใช้หนี้และไถ่จำนองก่อน เมื่อลูกใช้หนี้และไถ่จำนองให้แล้ว พ่อจึงยกที่ดินให้ลูก กรณีที่พ่อให้ลูกกรณีนี้ เป็นการให้สิ่งที่มีค่าภาระติดพัน
ให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา เป็นกรณีที่ผู้ให้ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมาย แต่มีหน้าที่ตามศีลธรรมตัวอย่างที่หนึ่ง กรณีชายฉุดคร่าหญิงไปเป็นภรรยา ต่อมาได้ขอขมาและยกที่ดินให้กับพี่ชายของหญิง ซึ่งพี่ชายของหญิง ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเลี้ยงดูแต่เมื่อชายยกที่ดินให้เช่นนี้ เป็นการให้ตามหน้าที่ธรรมจรรยา เอ้า ลองมาดูอีกหน่อย พ่อยกที่ดินที่มีราคาสูง และทรัพย์ส่วนใหญ่ให้ลูกสาวแต่ผู้เดียว บุตรคนอื่นไม่ให้กรณีเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการให้โดยหน้าที่ธรรมจรรยา นะ เป็นการให้โดยเสน่หา ซึ่งสามารถถอนคืนการให้ เพราะเหตุเนรคุณได้
ให้ในการสมรส โดยความหมายแล้ว ก็คือ ให้ในขณะทำการสมรส หรืออาจจะให้ก่อนสมรส แต่ต้องไม่ใช่ให้หลังการสมรส
เรื่องของการให้อย่างง่าย ๆ ที่ผู้อ่านพอจะทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ ก็มีแค่นี้หล่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น