วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายประเทศไทยดี และต้องเปลี่ยนนามสกุล, ใช้ "นาง" ด้วยหรือไม่

"จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายประเทศไทยดี และต้องเปลี่ยนนามสกุล, ใช้ "นาง" ด้วยหรือไม่ "

ข้อเท็จจริงได้ความว่า คุณกำลังจะจดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติที่สถานทูตของเขาในไทย คุณอยากทราบว่า หากจะจดหรือไม่จดทะเบียนไทย รวมถึงการเปลี่ยนบัตรประชาชนเป็นนางด้วยนั้น จะมีผลดีและผลเสียอย่างไรบ้าง เพราะเพื่อนแต่งงานกับฝรั่งแต่อยู่เมืองนอก เขาก็บอกไม่เคยเปลี่ยนอะไร และจะได้ทำนิติกรรมได้สะดวกไม่ต้องให้สามีต้องเซ็นร่วมนั้น
สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ ขอเรียนให้ทราบดังนี้ คุณจะจดทะเบียนสมรสกับคนต่างชาติที่สถานทูตของเขาในไทยนั้น การจดทะเบียนสมรสดังกล่าวมีผลตามกฎหมายของประเทศของสามี และมีผลตามกฎหมายไทยด้วย โดยที่คุณไม่ต้องจดทะเบียนสมรสในประเทศไทยอีก แต่ต้องไปบันทึกสถานะครอบครัวที่สำนักงานเขตหรืออำเภอใกล้บ้านของคุณ ผลของการกระทำดังกล่าว จะมีหลักฐานว่าคุณเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของสามีคุณ ในอนาคตถ้าสามีคุณเสียชีวิตคุณเป็นทายาทโดยธรรมที่จะได้รับทรัพย์มรดกของสามีไม่ว่าทรัพย์มรดกนั้นจะอยู่ในหรือนอกราชอาณาจักรไทยก็ตาม
กรณีที่คุณจดทะเบียนสมรสหรือบันทึกสถานะครอบครัวนั้นตามกฎหมายไทย คุณมีสิทธิใช้คำนำหน้านามเป็น “นางสาว, นาง” และมีสิทธิใช้นามสกุลของสามีหรือใช้นามสกุลเดิมก็ได้ หรือจะใช้นามสกุลเดิมเป็นชื่อรองของคุณก็ได้ ข้อดีของการเปลี่ยนนามสกุลตามสามี คือ มีความสะดวกในการขอวีซ่าเข้าประเทศสามีและเดินทางตามสามีไปต่างประเทศหรือการท่องเที่ยว
ส่วนเรื่องที่ต้องให้สามีต้องลงชื่อร่วมในการทำนิติกรรมนั้น จะเกิดขึ้นเมื่อเป็นการทำนิติกรรมที่สำคัญ ๆ เท่านั้น เช่น การซื้อบ้านและที่ดิน เป็นต้น การที่กฎหมายได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้เพื่อความชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างสามีภริยาในภายภาคหน้า แต่เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนนามสกุล หรือเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อเป็นนางหรือไม่ เพราะถ้าจดทะเบียนสมรสกับสามีแล้ว การทำนิติกรรมตามที่กฎหมายกำหนดว่าต้องให้สามีให้ความยินยอมก่อนก็ต้องเป็นไปตามนั้น ส่วนการทำนิติกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันนั้นมักไม่ค่อยมีวิธีการที่ยุ่งยากอยู่แล้ว

วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จำนำ

จำนำ
การ จำนำ คือการที่ผู้จำนำส่งมอบทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตนเป็นเจ้าของให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อเป็นการประกันว่าตนจะชำระหนี้ (มาตรา ๗๔๗ และมาตรา ๗๔๘) และในกรณีที่ทรัพย์สินที่นำมาจำนำ มีตราสารหนี้ (ตราสารหนี้เป็นเอกสารที่ทำขึ้นตามกฎหมายและจะโอนกันได้ก็ต่อเมื่อโอนด้วย วิธีของตราสารนั้นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ใบหุ้น หรือตั๋วเงิน เป็นต้น) ผู้จำนำต้องแจ้งให้ผู้รับจำนำทราบ และต้องมอบตราสารหนี้นั้นให้ผู้รับจำนำไว้ด้วย (มาตรา ๗๕๐ มาตรา ๗๕๑ มาตรา ๗๕๒ และมาตรา ๗๕๓)
ในการบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องแจ้งให้ผู้จำนำทราบล่วงหน้า ถ้าผู้จำนำยังเพิกเฉย ผู้รับจำนำอาจนำทรัพย์สินที่จำนำนั้นออกขายทอดตลาดได้ (มาตรา ๗๖๔ มาตรา ๗๖๕ มาตรา ๗๖๖ มาตรา ๗๖๗ และมาตรา ๗๖๘)
การจำนำสิ้นสุดเมื่อ หนี้ที่นำมาจำนำระงับไป เช่น มีการชำระหนี้กันแล้ว หรือได้หักกลบลบหนี้กันแล้ว เป็นต้น การที่ผู้รับจำนำยอมให้ทรัพย์สินที่จำนำกลับไปสู่การครอบครองของผู้จำนำย่อม ทำให้การจำนำสิ้นสุดลงเช่นกัน (มาตรา ๗๖๙)